หูของเขากับปากของเขามันอยู่ใกล้กัน หูของเรามันอยู่ไกลจากปากเขา เก็บเอามาเป็นขยะในใจเราทำไม <เก็บเอามาฝากจากพระวิทยากร>

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ธรรมวิภาค (๑)

วิชาธรรมวิภาคในธรรมศึกษาชั้นโทมี ๑๐ หมวด คือ
-ทุกะ หมวด ๒
-ติกะ หมวด ๓
-จตุกกะ  หมวด ๔
-ปัญจกะ หมวด ๕
-ฉักกะ หมวด ๖
-สัตตกะ หมวด ๗
-อัฏฐกะ หมวด ๘
-นวกะ หมวด ๙
-ทสกะ หมวด ๑๐
-ทวาทสกะ หมวด ๑๒
     ในแต่ละหมวดยังมีข้อย่อยๆ แยกออกไปอีก คือ
ทุกะ หมวด ๒ จะแบ่งออกเป็น กัมมัฏฐาน ๒ กาม ๒ บูชา ๒ ปฏิสันถาร ๒ สุข ๒
     กัมมัฏฐาน คือ อารมณ์ที่ตั้งแห่งการงานของใจ หมายถึง สิ่งที่ยึดเหนี่ยวผูกใจไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ควบคุมใจให้สงบหรือให้เกิดปัญญา ตามวิธีที่เลือกปฏิบัติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ภาวนา" มี ๒ ประเภท คือ
     ๑.สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ หมายถึง การปฏิบัติธรรมด้วยการบริกรรม ทำความเพียรทางจิตโดยใช้สติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ ๔๐ มี
  • กสิณ ๑๐ ได้แก่การเพ่งวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตนิ่งเป็นสมาธิ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม  สีต่างๆ เป็นต้น
  • อสุภะ ๑๐ ได้แก่การพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ เช่น ซากศพที่เน่าพุพอง มีสีเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรืออวัยวะส่วนต่างๆ ขาดหาย เป็นต้น 
  • อนุสสติ ๑๐ ได้แก่การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คุณของศีล เป็นต้น
  • พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ การเจริญพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้เกิดขึ้นในใจเนืองๆ
  • อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ได้แก่ การพิจารณาอาหารให้เห็นเป็นของน่าเกลียด
  • จตุธาตุววัฏฐาน ๑ ได้แก่ การกำหนดพิจารณาร่างกาย แยกส่วนออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
  • อรูปฌาน ๔ ได้แก่ การเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เช่น กำหนดที่ว่างแบบไม่มีขอบเขตเป็นอารมณ์ กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเจริญสมาธิขั้นสูงระดับฌาน
     การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานให้ได้ผลเร็ว ควรปฏิบัติให้ถูกจริตของตัวเองด้วย จริตมี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตักกจริต
     ๒.วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา หมายถึง การเจริญกัมมัฏฐานที่ใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมเป็นหลัก คือ พิจารณา
  • ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
  • ธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุ(จักษุประสาท) รูปธาตุ(รูปภายนอก) จักขุวิญญาณธาตุ(ธาตุที่ทำหน้าที่รู้ทางตา) เป็นต้น
  • อายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ และ อายตนะภายใน ๖ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
  • อินทรีย์ ๒๒ ได้แก่สิ่งที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่น จักขุนทรีย์ เป็นใหญ่ในการเห็นรูป 
     พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสามัญลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนสามารถคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ได้


0 ความคิดเห็น:

:)) ;)) ;;) :D ;) :p :(( :) :( :X =(( :-o :-/ :-* :| 8-} :)] ~x( :-t b-( :-L x( =))

แสดงความคิดเห็น