หูของเขากับปากของเขามันอยู่ใกล้กัน หูของเรามันอยู่ไกลจากปากเขา เก็บเอามาเป็นขยะในใจเราทำไม <เก็บเอามาฝากจากพระวิทยากร>

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติบูชาวันวิสาขบูชา ๒๕๕๔

    
     วันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ ไปไหนกันจ๊ะ เรามาตรึกระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันดีกว่า การบูชาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มากที่สุดคือ "การปฏิบัติบูชา" ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดดอนพุดมีสถานที่ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม เงียบ สงบ ขอเชิญผู้มีบุญทุกท่านมาร่วมปฏิบัติธรรมกันนะคะ ท่านพระครูวิธานวรคุณเจ้าอาวาสวัดดอนพุดเมตตานำสาธุชนบูชาประทีป และเรายังจะได้ฟังธรรมเพิ่มปัญญา นอกจากนี้ยังจะได้สวดมนต์เพิ่มบารมี มาเก็บบุญกันดีกว่านะคะ นี่เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่เราจะได้ทดแทนคุณบุพการี หรือผู้มีพระคุณทั้งหลาย โดยการชวนเข้าวัดปฏิบัติธรรม อย่าลืมนะคะรักใครชอบใครชวนมาปฏิบัติธรรมกันดีกว่านะคะ  กระซิบนิดนี่เป็นสิ่งที่รักบุญชอบมาก การชวนคนมาปฏิบัติธรรมเป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง นอกจากที่เราจะได้บุญจากการปฏิบัติธรรมเรายังจะได้บุญจากการชวนคนอื่นด้วย เรียกว่าเก็บไปเต็มๆ ก็เวลามันน้อยค่ะจะสร้างกุศลทั้งทีก็ต้องตักตวงให้ครบๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งทาน ศีล ภาวนา แล้วมาเจอกันที่วัดนะคะ อ้อ....อีกอย่างฟังพระท่านมา ท่านบอกว่าเวลาเห็นใครทำความดี ให้อนุโมทนาบุญกับเขาด้วย ไม่จำเป็นต้องรู้จักก็ได้เข้าไปโมทนาสาธุกับเขาเลย เราก็ได้บุญไปกับเข้าด้วย.......แล้วมาเจอกันนะคะ     


วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็น "วันสำคัญทางพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก"วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทน ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม และในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท 
วันวิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
                                                                              ที่มา:วิกิพีเดีย

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

สงกรานต์วัดดอนพุด

ทำบุญ   สรงน้ำพระ   รดน้ำผู้สูงอายุ
เบิกบานนนนนนนนนนนนนกันทั้งครอบครัว
อนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่านนะคะ



วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

พลังบวกเปลี่ยนชีวิต

     Ignite คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับการดำเนินชีวิต เรามาหาคำตอบกันนะคะ ฟังจากผู้รู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตกันดีกว่านะคะ รักบุญได้ฟังแล้วรู้สึกดีมากๆ เลยอยากแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ใ้ห้กับทุกๆคนค่ะ

TOP SECRET

คิดอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จในชีวิต

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

นางสงกรานต์ปี ๒๕๕๔


    
     กระทรวงวัฒนธรรม น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  ได้ออกมาเผยชื่อและลักษณะของนางสงกรานต์ ตามปฏิทินหลวงวันสงกรานต์ปี 2554 ว่า  "กิริณีเทวี" หัตถ์ซ้ายถือปืนหัตถ์ขวาจับตะขอ พยากรณ์จะเกิดเภทภัยทั่วประเทศ ประชาชนเจ็บไข้-วัวควายล้มตาย
     “พุทธศักราช 2554 สงกรานต์ปีใหม่ไทยปีนี้ตรงกับปีเถาะ นางสงกรานต์ มีนามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่ว งา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ
     ซึ่งการทำนายลักษณะนางสงกรานต์ดังกล่าว ตามตำราหนังสือตรุษสงกรานต์ของนายสมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553  นับว่าปีนี้แรงมาก โดยจะเกิดเหตุเภทภัยทั่วประเทศ ประชาชนเจ็บไข้ วัวควายล้มตาย ทหารมีชัย อาหารบริบูรณ์ นาคให้น้ำ 5 ตัวฝนตกโลกมนุษย์ 60 ห่าตลอดปี

     แต่แม้ว่าคำทำนายเบื้องต้น ค่อนข้างออกไปในทางร้ายมากกว่าดี แต่นางสงกรานต์กิริณีเทวีที่นั่งมาบนหลังช้าง ซึ่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่เป็นมงคล ก็จะช่วยขับไล่สิ่งร้ายๆ ให้ออกไป และยังทัดดอกมณฑาเป็นดอกไม้ทิพย์อยู่บนสวรรค์ ซึ่งคนไทยโบราณเชื่อว่าจะช่วยพ้นวิกฤติจากหนักเป็นเบา ดังนั้นเมื่อรวมกับ ภักษาหารที่เป็นถั่วงา ทางพืชผลข้าวปลาอาหารยังมีความสมบูรณ์อยู่ ส่วนคำทำนายที่ว่าทหารจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู ก็น่าจะแสดงถึงความสงบสุขของบ้านเมืองในปีนี้ด้วย” น.ส.ทัศชล กล่าว



ตำนานนางสงกรานต์



จารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
  1. ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
  2. ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม คราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
  3. ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
  4. ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
  5. ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
  6. ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
  7. ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
  1. วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
  2. วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
  3. วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
  4. วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
  5. วันพฤหัส ชื่อ นากัญญาเทพ
  6. วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
  7. วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี 
                                                                                      จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันสงกรานต์


สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไต แถบเวียดนาม และมณฑลยูนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชัยตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
                                                                              จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี