หูของเขากับปากของเขามันอยู่ใกล้กัน หูของเรามันอยู่ไกลจากปากเขา เก็บเอามาเป็นขยะในใจเราทำไม <เก็บเอามาฝากจากพระวิทยากร>

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

รักษาศีลวันพระ

เข้าพรรษามาก็ใกล้จะถึงวันออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านดอนพุดผู้มีจิตอันเป็นกุศลก็ได้มารักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมกันในวันพระ เป็นปกติของชาวบ้านดอนพุด การใส่บาตรจะทำกันทุกวัน แทบทุกบ้าน หากวันใดพ่อแม่ไม่ว่างลูกๆ ก็จะมาใส่แทน หลังจากพระตีกลองตอนประมาณหกโมงเช้า หรือเห็นใบไม้ ก็จะได้เห็นชาวบ้านพากันมาใส่บาตรเป็นกิจวัตร ภาพแห่งความดีมองทีไรก็ปลื้มทุกที.....วันนี้เราทำทานกันหรือยัง!

อธิษฐานเทียน, หลอดไฟ พรรษา

โยมที่มารักษาศีลแปดในวันพระ

สวดมนต์ทำวัตร

ทานอาหารเพล 

มีทั้งคุณน้า คุณป้า คุณยาย

วิธีชีวิตชาวบ้าน เรียบง่าย ไม่ต้องแก่งแย่งกัน มีอะไรก็ปันกันไป มีครั้งหนึ่งเพื่อนรักบุญมาปฏิบัติธรรมที่สำนักฯ แล้วเกิดติดใจปลาตัวเล็กๆ ทอดที่แม่ครัวจัดอาหารให้ เป็นปลาที่ป้าบ้านใกล้วัดเอามาถวายเลี้ยงผู้ปฏิบัติ เลยฝากรักบุญซื้อจะเอากลับกรุงเทพฯ รักบุญก็ไปถามให้ปรากฏว่าป้าให้มาเกือบ กก.(เป็นปลาเค็มตากแห้งเลยเบา) แล้วป้าก็บอกว่ามันมีน้อยไม่คิดตังหรอกเอาไปกินเหอะ.....อึ้งเลย เพราะเราหาสิ่งเหล่านี้จากสังคมเมืองหลวงยากมาก น่าจะเป็นเพราะว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่ผูกพันกับวัด ฟังเทศน์กันบ่อยๆ ถึงแม้ว่าบางครั้งยังต้องดำรงชีพด้วยการจับปลาในหน้าน้ำ(ท่วม) คุณลุงคุณป้ายังบอกว่าวันนี้บาปจังจับปลามาทำปลาร้าปลาเค็มเยอะ พอตอนเย็นก็สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิแผ่เมตตาให้ปลาทั้งหลาย....ถ้าจับมา(วางข่าย)ตัวไหนยังไม่ตายก็เอาไปปล่อย....เป็นความน่ารักของคนดอนพุด ลองมาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านดู...แล้วจะติดใจ

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

อกุศลมูล ๓

รากเหง้าของอกุศล เรียกว่า อกุศลมูล เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย อกุศลมูลมี ๓ อย่างคือ
๑.โลภะ หมายถึง ความโลภอยากได้อันเป็นไปในทางทุจริต เป็นต้นเหตุของความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่น ลัก ขโมย โกง ปล้น เป็นต้น โลภะ เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก กำจัดได้ด้วยทาน คือ การบริจาค รู้จักการเสียสละและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น
๒.โทสะ หมายถึง จิตที่คิดประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้นเหตุของการก่อการวิวาททำร้าย บันดาลโทสะถึงที่สุดอาจถึงฆ่ากันได้ เมื่อทำตอบไม่ได้ก็จะกลั่นแกล้งกัน ทำให้อยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข อยู่ด้วยความระแวง โทสะ เกิดจากมานะ ความถือตัว กำจัดได้ด้วยเมตตา 
๓.โมหะ หมายถึง ความหลง ความเขลา ความรู้ไม่จริง เป็นต้นเหตุให้เกิดความประมาท เชื่อง่าย หูเบา เป็นเหตุให้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ โมหะเกิดจากมิจฉาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ผิด กำจัดได้ด้วยปัญญา 


สุจริต ๓

สุจริตเกิดขึ้นได้ ๓ ทางตามความประพฤติ คือ
๑.ประพฤติชอบทางกาย เรียก กายสุจริต
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
-เว้นจากลักทรัพย์
-เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๒.ประพฤติชอบทางวาจา เรียก วจีสุจริต 
-เว้นจากพูดเท็จ
-เว้นจากพูดส่อเสียด
-เว้นจากพูดคำหยาบ
-เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
๓.ประพฤติชอบทางใจ เรียก มโนสุจริต
-ไม่โลภอยากได้ของเขา
-ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
-ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม
การงดเว้น เรียกว่า วิรัติ มี ๓ อย่าง คือ
๑.สัมปัตติวิรัติ งดเว้นได้เฉพาะหน้า แม้สบโอกาสที่จะทำชั่วก็ยับยั้งชั่งใจไม่ให้ทำได้
๒.สมาทานวิรัติ งดเว้นได้ด้วยการสมาทาน ด้วยเจตนาที่ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำชั่ว
๓.สมุทจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด ไม่ทำชั่วตลอดชีวิต เป็นการงดเว้นได้ของพระอริยบุคคล
สุจริตทั้ง ๓ เป็นทางนำไปสู่ความเจริญ ผู้ทำความดีย่อมได้ประโยชน์ คือ
-ตัวเองตำหนิตัวเองไม่ได้
-ได้รับการสรรเสริญยกย่องจากผู้รู้
-ชื่อเสียงดีงามย่อมขจรไป
-เวลาใกล้สิ้นใจมีสติไม่หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในสุขคติ



ทุจริต ๓

ทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่ว การทำผิด การทำไม่ดี มีที่เกิด ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ
๑.ประพฤติชั่วทางกาย มี ๓ อย่าง คือ
-ฆ่าสัตว์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ตั้งแต่ถือกำเนิดในครรภ์รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด 
-ลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ จะมีราคาค่างวดมากน้อยก็ตาม ถ้าเจ้าของไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา หยิบเอาของนั้นมาถือเป็นการลัก
-ประพฤติผิดในกาม เป็นชู้ในชายหญิงที่มีภรรยาสามีแล้ว
๒.ประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ อย่าง คือ
-พูดเท็จ พูดให้คลาดจากความเป็นจริง รวมถึงการเขียนเป็นหนังสือด้วย
-พูดส่อเสียด พูดยุแหย่เพื่อให้คน ๒ ฝ่ายผิดใจกัน
-พูดคำหยาบ พูดคำที่ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจหรือบันดาลโทสะ
-พูดเพ้อเจ้อ พูดพล่อยๆ ไม่เป็นแก่นสาร
๓.ประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง คือ
-โลภอยากได้ของเขา คิดเอาแต่ได้ของคนอื่น โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร
-พยาบาทปองร้ายเขา คิดปองร้ายคนที่ตนไม่ชอบใจ
-เห็นผิดจากคลองธรรม เห็นว่าบาปบุญคุณโทษไม่มีผล การทำดีหรือชั่วจะได้รับผลต่อเมื่อมีผู้รู้เห็น
การประพฤติชั่วทั้ง ๓ ทางนั้น ประพฤติชั่วทางใจมีโทษรุนแรงที่สุดกว่าการทำบาปอื่นๆ เพราะเป็นเหตุให้คนที่มีความเห็นอย่างนั้นปฏิเสธเรื่องบาปบุญคุณโทษ สามารถทำชั่วได้ทุกอย่าง
ผู้ทำทุจริตย่อมได้รับโทษ คือ 
-ตนเองก็ตำหนิตนเองได้
-ถูกตำหนิจากผู้รู้
-ชื่อเสียงทางไม่ดีขจรไป
-ใกล้สิ้นใจก็หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในทุกคติ


โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วรวมอยู่ในโอวาททั้ง ๓ ที่มีคติจำง่ายๆ ว่า ละชั่ว ทำดี จิตใส ซึ่งเรียกรวมว่า โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาททั้ง ๓ จัดลงในไตรสิกขา คือ
๑.สัพพปาปัสสะ อกรณัง หมายถึง การงดเว้นจากทุจริต จากบาปกรรมทุกอย่าง ทั้งทางกาย วาจา ใจ พยายามลดละที่จะทำซ้ำ และป้องกันมิให้เกิดมีขึ้นในจิตสันดาน
๒.กุสลัสสูสัมปทา หมายถึง การทำสุจริต
๓.สจิตตปริโยทปนัง หมายถึง การทำใจให้หมดจด ให้ปลอดจากกิเลสที่ทำให้เศร้าหมอง มี โลภ โกรธ หลงฯ



คุณของรัตนะ ๓

พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
๑.รู้ดีรู้ชอบ หมายถึง ทรงรู้ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง คือ 
-รู้ว่าชาติ ชรา มรณะฯ เป็นทุกข์จริง
-ตัณหา เป็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์จริง
-ความที่ตัณหาดับโดยไม่เหลือ เป็นนิโรธ ความดับทุกข์ได้จริง
-มรรค คือปัญญาเห็นชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง
เรียกว่า รู้อริยสัจ
๒.ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ตกไปอยู่ในสถานที่ต่ำช้าในภพทั้งสอง
-ในภพนี้ ไม่ถูกขังในเรือนจำ ไม่เกิดในถิ่นทุรกันดารฯ
-ในภพหน้า ไม่เกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก สัตว์ดิรัชฉาน เปรต อสูรกาย
๓.ปฏิบัติชอบ หมายถึง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่ง ให้สมกับเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เมื่อปฏิบัติได้ดังนั้นแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย


วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

รัตนะ ๓

รัตนะ แปลว่า แก้ว รัตนะ ๓ หมายถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นสิ่งที่ประเสริฐมีค่าสูงสุด และหาได้ยาก ทั้งสามนี้รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย หรือพระไตรรัตน์
๑.พระพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ทรงมีพระกรุณาคุณสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
๒.พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกรวมว่าพระธรรมวินัย แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม
๓.พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใสออกบวช ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็สอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์



ทุลลภบุคคล-บุคคลหาได้ยาก

บุคคลหาได้ยาก มี ๒ ข้อคือ
๑.บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน หมายถึง ผู้ที่มีบุญคุณ เคยเลี้ยงดู สั่งสอน ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ให้กำเนิดหรือหน้าที่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทำด้วยเมตตากรุณา บุพการีบุคคลที่สำคัญในชีวิตคือ พ่อแม่, ครูอุปัชฌาย์, พระเจ้าแผ่นดิน, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒.กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วตอบแทน หมายถึง ผู้ที่ระลึกถึงบุญคุณที่ผู้อื่นเคยช่วยเหลือตนมา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อมีโอกาสก็จะตอบแทนบุญคุณนั้นตามกำลังความสามารถ ผู้ที่เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคลคือ ลูกชายหญิง, ศิษย์, พสกนิกร, พุทธศาสนิกชน


โสภณธรรม-ธรรมอันทำให้งาม

ธรรมอันทำให้งาม เป็นเครื่องประดับภายในจิตใจ ทำให้เป็นคนมีสง่าราศี น่ายกย่องนับถือ มี ๒ ข้อคือ
๑.ขันติ ความอดทน หมายถึง ความอดทนอดกลั้นไว้ได้เมื่อมีอารมณ์ที่มากระทบใจ ไม่แสดงอาการออกมาทางการกระทำหรือคำพูด เรื่องที่ต้องอดทนมีอยู่ ๔ ประการคือ
-ทนต่อความลำบากตรากตรำ ไม่ย้อท้อ สิ้นหวัง ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น
-ทนต่อทุกขเวทนา ไม่แสดงอาการทุรนทุรายเมื่อเจ็บป่วย
-ทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกคนอื่นทำหรือพูดกระแทกแดกดัน
-ทนต่ออำนาจกิเลส ไม่แสดงอาการอยากมีอยากได้ แม้ได้มาก็ไม่ยินดีจนเกินเหตุ
๒.โสรัจจะ ความเสงี่ยม หมายถึง การรู้จักปรับสภาพจิตใจให้สงบนิ่งเยือกเย็นเมื่อมีเรื่องที่ต้องอดทน ข่มใจให้สงบนิ่ง ไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาภายนอก  


หยิบเอามาฝาก....


ธรรมะสบายๆ กับ ท่าน ว.วชิรเมธี

กฐินวัดดอนพุด

เวลาแห่งการสร้างมหาทานบารมีที่เรารอคอยกันมาถึงแล้วค่ะ 
กฐินวัดดอนพุดจะทอดกันวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ นี้ ขอเชิญเทพบุตรเทพธิดาผู้มีบุญทั้งหลายได้มาร่วมสร้างมหาทานบารมีกันนะคะ "กฐิน" ถือเป็นทานตามกาล คือ ปีหนึ่งแต่ละวัดจะทอดได้ครั้งเดียวเท่านั้น และจะทอดภายในหนึ่งเดือนหลังวันออกพรรษา  บุญใหญ่อย่างนี้จะพลาดได้อย่างไร....ถึงแม้ว่าตอนนี้น้ำทำท่าว่าจะมา แต่น้ำใจของสาธุชนที่ตั้งมั่นในการสืบทอดพระศาสนาของพระศาสดามีมากกว่าหลายร้อยเท่า สำนักวิปัสสนาวัดดอนพุดจะดำรงคงอยู่ได้ก็ด้วยความสามัคคีของสาธุชน ที่ได้ช่วยกันทำนุบำรุงศาสนสถานให้สามารถใช้งานได้ดี ตราบใดที่อาคารสถานที่ยังคงอยู่ มีคนมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมซึ่งที่สำนักวิปัสสนาวัดดอนพุดได้มีการอบรมให้กับเยาวชน ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปอยู่ทั้งปี ตราบนั้นบุญที่เราร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ เราท่านทั้งหลายก็จะได้รับบุญนั้นตลอดสิ้นอายุขัย แม้นว่าได้เกิดมาอีกชาติถ้าศาสนสถานยังคงอยู่เราก็ยังได้บุญนั้นอยู่ เปรียบดั่งบุญน้ำไหล....อย่างนี้เราจะไม่ทำได้อย่างไร......ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.๐๓๖-๓๙๕ ๐๒๔ พบกันวันที่ ๒๒ ตุลาคม นี้นะคะ


โลกปาลธรรม-ธรรมคุ้มครองโลก

ธรรมคุ้มครองโลก เพราะเป็นธรรมที่ทำให้โลกเกิดสันติสุข มี ๒ ข้อคือ
๑.หิริ ความละอายใจ หมายถึง ความละอายใจในการทำผิดศีลธรรมหรือกฏหมายบ้านเมือง หรือความละอายในในการที่จะไม่ทำความดีที่ตนสามารถทำได้
๒.โอตตัปปะ ความเกรงกลัว หมายถึง ความกลัวต่อความผิด เพราะคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นหลังความผิดนั้นๆ 



พหุปการธรรม-ธรรมมีอุปการะมาก

ธรรมะมีอุปการะมาก ทำให้บุคคลสามารถควบคุมการทำ การพูด การคิด ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ช่วยใ้ห้มีการยับยั้งชั่งใจ รู้จักละวางการทำ พูด คิด ที่ไม่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง มี ๒ ข้อคือ
๑.สติ ความระลึกได้ หมายถึง การนึกได้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด มิให้กิจนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางที่ผิด หรือนึกถึงเรื่องที่เคยทำ เคยพูดที่นานมาแล้วได้ เป็นอาการฉุกคิดได้ของจิตไม่เผลอไผลหลงลืม 
สติ มีหน้าที่คอยกำจัดความประมาทเลินเล่อ ทำให้กิจการงานต่างๆ ไม่เกิดความเสียหาย
๒.สัมปชัญญะ ความรู้ตัว หมายถึงความรู้สึกตัวตลอดเวลาในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด  รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
สัมปชัญญะ มีหน้าที่กำจัดความโง่เขลาในการทำงานทุกประเภท


วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 2/4

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 2/3

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 2/2

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 2/1

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 1/2

แสดงธรรมแก่โยคีผู้ปฏิบัติ ณ พระอุโบสถวัดดอนพุึด 1/1


น้ำยาล้างห้องน้ำ-น้ำยาถูพื้น ชีวภาพ


น้ำยาล้างห้องน้ำ + ถูพื้น
ส่วนผสม
-         N70(หัวแชมพู)                 1           กก.
-         ขี้เถ้า                              2           กก.
ผสมน้ำ             6          ลิตร
(หมักทิ้งไว้ 3 วันแล้วกรองเอาส่วนใส จะได้น้ำด่าง)
-         น้ำชีวภาพทำมาจาก สัปปะรด     3          ลิตร
-         เกลือ                                   1          กก.
ละลายน้ำ               3          ลิตร
-         น้ำเปล่า                                3          ลิตร
-         ขจัดคราบ                             ½         กก.
ละลายน้ำ               2          ลิตร


วิธีทำ
-         นำ N70 ใส่ในภาชนะที่จะทำ(ควรจะเป็นถังขนาด 20 ลิตร) กวน N70 โดยใช้ไม้พายกวนไปทางเดียวประมาณ 5 นาที จนขึ้นฟูเป็นสีขาวข้น


-         ค่อยๆเติมน้ำเกลือทีละแก้ว  จนครบ 3 ลิตร
-         เติมน้ำด่างทีละแก้ว จนครบ 6 ลิตร
-         เติมน้ำเปล่าทีละแก้ว จนครบ 3 ลิตร
-         เติมน้ำหมักชีวภาพทีละแก้วจนครบ 3 ลิตร
-         เติมน้ำยาขจัดคราบทีละแก้วจนครบ 2 ลิตร



-         เติมหัวน้ำหอมกลิ่นมะกรูด ½ ออนซ์
-         เติมน้ำยากันเสีย ½ ออนซ์


ในขณะที่เติมส่วนผสม ต้องกวนไปเรื่อยๆ หากน้ำยาใส ให้ค่อยๆ เติมส่วนผสมทีละน้อย ช้าๆ กวนจนน้ำยาข้น จะมีฟองเกิดขึ้นด้านบน ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง จะได้น้ำยาใสๆ บรรจุภาชนะเก็บไว้ใช้ได้นาน

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สูตรน้ำยาล้างจานชีวภาพ


น้ำยาล้างจาน
ส่วนผสม
-         N70(หัวแชมพู)                 1           กก.
-         ขี้เถ้า                              1           กก.         
          ผสมน้ำ           3  ลิตร  
         (หมักทิ้งไว้ 3 วันแล้วกรองเอาส่วนใส จะได้น้ำด่าง)
-         น้ำชีวภาพทำมาจากมะกรูด มะนาว สัปปะรด      3  ลิตร
            เกลือ                             ½          กก.          
          ละลายน้ำ       3 ลิตร
-         น้ำเปล่า                         6           ลิตร
-         น้ำยากันเสีย                    ½          ออนซ์
-         ใส่กลิ่นตามชอบ               ½          ออนซ์
    วิธีทำ
-         นำ N70 ใส่ในภาชนะที่จะทำ(ควรจะเป็นถังขนาด 20 ลิตร) กวน N70 โดยใช้ไม้พายกวนไปทางเดียวประมาณ 5 นาที จนขึ้นฟูเป็นสีขาวข้น


-         ค่อยๆเติมน้ำเกลือทีละแก้ว  จนครบ 3 ลิตร
-         เติมน้ำด่างทีละแก้ว จนครบ 3 ลิตร
-         เติมน้ำเปล่าทีละแก้ว จนครบ 6 ลิตร
-         เติมน้ำหมักชีวภาพทีละแก้วจนครบ 3 ลิตร



-         เติมน้ำยากันเสีย
ในขณะที่เติมส่วนผสม ต้องกวนไปเรื่อยๆ หากน้ำยาใส ให้ค่อยๆ เติมส่วนผสมทีละน้อย ช้าๆ กวนจนน้ำยาข้น จะมีฟองเกิดขึ้นด้านบน ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง จะได้น้ำยาใสๆ บรรจุภาชนะเก็บไว้ใช้ได้นาน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมลานบุญลานปัญญา..ดอกไม้บานเวอร์ชั่นวัดดอนพุด

       กิจกรรมคลายจิตคลายใจ ก่อนนั่งสมาธิ ของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลดอนพุด(พิพัฒน์ดวงราษฎรบำรุง) และโรงเรียนดอนพุดวิทยา อนุโมทนาบุญกับอาจารย์กัลยา จินตนานนท์ และนักเรียนทุกคนนะคะ...สาธุ สาธุ สาธุ น่ารักทุกคนเลย...ชอบจัง




วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ลานบุญลานปัญญา

     ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคมนี้จะมีกิจกรรมสาธิตการทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้นจากน้ำชีวภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน ปลอดสารเพื่อสุขภาพที่ดีรักษาสมดุลย์ธรรมชาติ เรามารักษ์โลกสีเขียวของเรากันนะคะ ผู้สนใจหากอยู่ใกล้ๆ มาศึกษากันได้ ตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ - ๑๑.๐๐ น. รักบุญจะได้นำสูตรและวิธีทำมาบอกอีกครั้งนะคะ ใช้ดีมากๆ เลยค่ะไม่กัดมือด้วย สามารถทำใช้ได้ในครัวเรือน และยังทำเป็นอาชีพได้อีกด้วย วันนี้มาบอกข่าวกันก่อน แล้วมาเจอกันวันที่ ๒๖ นี้นะคะ ก่อนจากกันช่วงนี้เข้าหน้าฝนแล้ว รักษาสุขภาพกันนะคะระวังจะเป็นหวัด....ด้วยรักและห่วงใย

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของการปฏิบัติ ตอนที่ 2

ความสำคัญของการปฏิบัติ ตอนที่ 1


ข้อคิดจากข้าวทิพย์



ข้อคิดจาก “ข้าวทิพย์”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นข้อพิจารณาว่า “ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ในราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่ว งา นม เนยและผลไม้ต่างๆ ให้พร้อมทุกอย่าง เป็นอันรวมรสต่างๆมาลงในอันหนึ่งอันเดียว จนเรียกกันในคำประกาศว่า “อเนกรสปายาส” ของที่นำมาปรุงเป็น “ข้าวทิพย์” ของไทยไม่ปรากฏนามว่าใครเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดก็จะพบว่า การปรุงข้าวทิพย์ของไทยมีส่วนประกอบของหมู่อาหารตามหลักโภชนาการสมัยใหม่ สามารถจัดคู่เปรียบเทียบได้ดังนี้

1.ของปรุงประเภทถั่วต่างๆ ก็คือหมู่อาหารโปรตีน
2.ของปรุงประเภทข้าว พืชเป็นหัวและธัญพืช ก็คือ หมู่อาหารคาร์โบไฮเดรท (แป้งและน้ำตาล) 
3. ของปรุงประเภทน้ำมันกะทิ เนย ก็คือหมู่อาหารไขมัน
4.ของปรุงประเภทผลไม้สด ผลไม้แห้งต่าง ๆ ก็คือ หมู่อาหารวิตามินและเกลือแร่

เครื่องปรุงในข้าวทิพย์ไม่เพียงแต่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการในปัจจุบันเท่า นั้น ต่ยังสอดคล้องเข้ากันได้อย่างน่าอัศจรรย์กับหลักในการกินอาหารธรรมชาติของ ชาวตะวันตก อกหารมังสะวิรัติของคนเอเซียและหลักการกินเจของชนชาวจีนซึ่งถ่ายทอดกันมานับ เป็นพันๆปีแล้ว ของปรุงที่มากมายในข้าวทิพย์ล้วนเป็นหมวดหมู่อาหารอันทรงคุณค่า ที่บรรพชนในอดีตมุ่งหวังให้คนรุ่นลูกหลานมิใช่ต้องการให้เราบริโภค “ข้าวทิพย์” เพียงปีละครั้งเดียวตามประเพณีเท่านั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องกระทำอยู่ทุกวัน ดังเช่นความชั่วทั้งปวงย่อมต้องไม่กระทำในทุกที่ไม่ว่าทั้งที่ลับหรือที่ แจ้งการทำความดีก็ต้องทำอยู่ทุกเวลาไม่เลือกทำเฉพาะวันใดวันหนึ่งและการทำ จิตใจให้ผ่องใสก็ต้องทำอยู่ทุกขณะจิตไม่ว่าจะหลับหรือตื่นการบริโภคอาหารที่ มีคุณค่าเราก็ย่อมต้องบริโภคเป็นประจำทุกวันเช่นกัน

พระโบราณจารย์ได้กล่าวอรรถกถาย้ำเตือนพุทธบริษัททั้งหลายเอาไว้ว่า “เป็นพุทธประเพณีที่พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ทุกพระองค์ จักต้องได้เสวยข้าวทิพย์เสียก่อน จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” คำกล่าวอันเป็นปริศนาธรรมนี้ชี้ชัดว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งพุทธะจักต้องบริโภค “ข้าวอันเป็นทิพย์” คืออาหารที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากเลือดเนื้อและชีวิตทั้งหลายเสียก่อน อันเป็นหนทางนำไปสู่ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในที่สุด นี่เป็นหน้าที่แรกเริ่มของผู้ประพฤติธรรมจักต้องขึดถือปฏิบัติด้วยกันทุกคน ดังเช่นที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

การรู้จักรับประทานแต่ผักผบไม้และเมล็ดธัญญพืชย่อมทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพพลานามัยดี เมื่อสุขภาพกายดีสุขภาพจิตก็ดีและสติปัญญาก็ดีตาม ต่างเกี่ยวเนื่องโยงใยเป็นสายสัมพันธ์กันโดยตลอด การรู้จักความถูกต้องในการกิน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อชีวิตตนเองและชีวิตผู้อื่นจึงเรียกได้ว่า “กินอย่างพุทธะ เพื่อความเป็นพุทธะ กินอย่างถูกต้องเพื่อความถูกต้อง” ความดีงามความบริสุทธิ์สะอาดความเบิกบานทั้งกายและใจก็จะบังเกิดขึ้น อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นข้าวทิพย์จึงเป็นอาหารสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมโดยแท้ ข้าวทิพย์มิใช่เป็นเพียงสมญานามเท่านั้น แต่ข้าวทิพย์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงเสวยแล้วก็คือ อาหารทิพย์ของมหาชนทั้งโลกนั้นเอง 

      http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=137&page=10
  

วิธีทำข้าวมธุปายาส



ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ ของไทย
      จากคติศรัทธาความเชื่อของชาวพุทธในประเทศไทยได้ขนานนาม “ข้าวมธุปายาส” ว่าเป็น “ข้าวกระยาทิพย์” หรือ “ข้าวทิพย์” ประเพณีการหุงข้าวทิพย์ในวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนวันวิสาขบูชาพบว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเพณีนี้สืบต่อลงมาจนถึงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วว่างเว้นไปและกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ถือเป็นโบราณราชประเพณีปฏิบัติสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

        สำหรับของที่นำมาปรุง “ข้าวทิพย์” และวิธีการกวนตามแบบไทย มีบันทึกไว้ในหนังสือ “พระราช            พิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรียบเรียงได้ดังนี้ 
ของที่นำมาปรุงข้าวทิพย์
ของที่นำมาปรุงข้าวทิพย์ 5 ประเภทคือ
ก. ประเภทถั่ว
ข. ประเภทข้าว พืชเป็นหัว เมล็ดธัญพืช
ค. ประเภทน้ำตาล
ง. ประเภทน้ำมัน
จ. ประเภทผลไม้ อันได้แก่ ผลไม้สด ผลไม้คั้นน้ำ ผลไม้แห้ง ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม พร้อมทั้งสมุนไพรปรุงรสได้แก่ ชะเอม

ของปรุง “ข้าวทิพย์” 
เครื่องปรุงทั้ง 5 ประเภทประกอบด้วยของชนิดต่างๆ ดังนี้
ก. ประเภทถั่ว ได้แก่

    1. ถั่วราชมาษ 
    2.ถั่วดำ 
    3.ถั่วเหลือง 
    4.ถั่วเขียว 
    5. ถั่วขาว 
    6.ถั่วทอง 
    7.ถั่วลิสง 
    8. ถั่วแม่ตาย
ข.ประเภทข้าว พืชเป็นหัวและเมล็ดธัญพืช ได้แก่
    1. ข้าวอ่อนที่คั้นเป็นน้ำนม
    2.ข้าวสารหอม
    3. ข้าวเม่า
    4. ข้าวฟ่าง
    5.ข้าวตอก
    6. ข้าวโพด
    7.ขนมปังจืด (ป่นหยาบพอเป็นเกร็ด)
    8.สาคูวิลาด
    9. สาคูลาน
    พืชเป็นหัว
    10. มันเทศ
    11. เผือก
    12. แห้วไทย
    13. แห้วจีน
    14. กระจับสด
    เมล็ดธัญพืช
    15.เมล็ดงา
    16. เมล็ดแตงอุลิด
    17. ลูกเดือย
    18. ผลมะกล่ำใหญ่
ค.ประเภทน้ำตาล ได้แก่
    1. น้ำผึ้ง
    2. น้ำอ้อยสด
    3. น้ำอ้อยแดง
    4. น้ำตาลกรวด
    5. น้ำตาลทราย
    6. น้ำตาลหม้อ
ง.ประเภทไขมัน ได้แก่
    1. เนย
    2. น้ำนมโค
    3. มะพร้าวแก่
    4. มะพร้าวอ่อน
จ.ประเภทผลไม้ (ใช้ผลไม้แดงและทุกชนิดที่หาได้)
ผลไม้สดได้แก่
    1. ทับทิม
    2. ลูกพลับสด
    3. ละมุด
    4. สาลี่
    5. กล้วยหอม
    6. กล้วยไข่
    7. กล้าย
    8. น้อยหน่า
    9. เงาะ
    10. ลางสาด
    ผลไม้คั้นน้ำ ได้แก่
    1.ส้มเขียวหวาน
    2. ส้มเกลี้ยง
    3. ส้มมะเป้น
    4. ส้มซ่า
    5. ส้มตรังกานู
    ผลไม้แห้ง ได้แก่
    1. พลับแห้ง
    2. อินทผลัม
    3. ลำไย
    4. พุทราริ้ว
    5. ลิ้นจี่
    ผลไม้กวน ได้แก่
    1.ทุเรียนกวน
    2. สัปปะรดกวน
    ผลไม้แช่อิ่ม ได้แก่
    1.ผลชิด
    2. ผลกระท้อน 
พร้อมทั้งสมุนไพรปรุงรสได้แก่ ชะเอมสด ชะเอมเทศ รวมของทั้งหมด 62 รายการ 


การเตรียมของปรุง
1.ของที่ต้องนำมาโขลกตำ ได้แก่ ข้าวอ่อนเจือด้วยน้ำโขลกแล้วคั้น น้ำที่ใช้เป็นน้ำมนต์ถือว่าเป็นสิ่งศิริมงคลและให้ผลทางจิตใจ ชะเอมสดและชะเอมเทศโขลกคั้นเอาน้ำมาเจือในน้ำนม แทนคติว่าแม่โคถูกเลี้ยงในป่าชะเอม (กิ่งชะเอม เมื่อทุบให้แตกใช้ขัดถูฟัน มีสรรพคุณรักษาโรคเหงือก ทำให้ฟันแข็งแรงและบำรุงสายตา) 

2. ของที่ต้องนำมาหั้นฝานให้เป็นชิ้นเล็กได้แก่ ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม
3. ของที่ต้องนำมาหุงเปียกได้แก่ ประเภทข้าว สาคู ลูกเดือย
4. ของที่ต้องนำมาแช่น้ำให้นิ่มแล้วนึ่งให้สุก ได้แก่ ประเภทถั่ว
5. ของที่ต้องนำมาคั่ว ได้แก่ ถั่วลิสง งา ถั่วลิสงและงาต้องแยกกันคั่ว ไม่นำมาคั่วรวมกัน เพราะของแต่ละอย่างใช้เวลาทำให้สุกไม่เท่ากัน ถั่วลิสงจะสุกช้ากว่างาอย่างนี้กระมังจึงมีสุภาษิตของไทยที่ว่า “กว่าถั่งจะสุกงาก็ไหม้” หมายความถึงการทำงานที่ขาดระเบียบ ไม่มีขั้นตอน ไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งใดควรทำก่อน ทำหลังเป็นเหตุให้งานเสียหายได้
6.ของที่ต้องนำมาคั้นน้ำ ได้แก่ ผลไม้ประเภทส้ม ทับทิม
7. ของที่ต้องนำมากวนให้เหนียวพอเป็นยางมะตูม ได้แก่ น้ำตาลหม้อซึ่งใช้เป็นหลักจริงๆ ส่วนน้ำผึ้ง น้ำอ้อยสด น้ำอ้อยแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย ใส่พอสังเขป
8. น้ำมันที่ใช้กวน ได้แก่ กะทิซึ่งใช้มะพร้าวแก่ขูดแล้วคั้นด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำนมโค และเนยใช้เจือ
ขณะกวนใส่เพียงนิดหน่อย เรียกว่า ใส่พอเป็นพิธี บางทีกวนกระทะใหญ่โตใช้เนยเพียงช้อนเดียว เมื่อกวนเสร็จจะมีกลิ่นหอมของกะทิและน้ำตาลมากกว่ากลิ่นของนมเนย อันเป็นแบบฉบับขนมอย่างไทยๆ 

ขั้นตอนในการใส่ของปรุง “ข้าวทิพย์”

1.เคี่ยวกะทิและน้ำตาลใช้ไฟ ปานกลางอย่าแรงเกินไปจะทำให้น้ำตาลไหม้

2. เมื่อเดือดได้ที่ นำของที่หุงเปียกและนึ่งไว้แล้วได้แกประเภทข้าว และถั่วลงกวน
3. ใส่ผลไม้สดที่หั่นฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ตามความเหมาะสมลงกวนเพื่อทำให้ผลไม้สดลดความชื้น เมื่อกวนเสร็จจะสามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่ชื้นหรือขึ้นราง่าย
4.ขณะกวนหากเครื่องปรุงข้นเหนียวหรือแห้งเกินไปสามารถเติมน้ำผลไม้คั้นได้ ตามสมควร
5.เหยาะน้ำนมสด เนย และน้ำนมข้าวอ่อนที่คั้นกับชะเอมพอประมาณ
6. ใส่ผลไม้แห้ง ผลไม้แช่อิ่ม และผลไม้กวน ที่หั่นฝานดีแล้วลงกวนคลุกเคล้าเบาๆ จนส่วนผสมกระจายทั่วกันดี ผลไม้แห้งต่างๆ เมื่อใส่ลงในกระทะแล้วจะใช้เวลากวนอีกเพียงชั่วครู่ เพื่อรักษากลิ่นหอมตามธรรมชาติของผลไม้ไว้
7. เสร็จแล้วยกลงจึงโรยด้วยของที่คั่วสุก ได้แก่ ถั่วลิสงคั่ว งาคั่ว 

     ลักษณะของข้าวทิพย์เมื่อกวนเสร็จ จะมีความเหนียวพอประมาน เมื่อเย็นสนิทแล้วสามารถนำมาปั้นหรือกดลงพิมพ์เป็นชิ้นได้ ไม่แข็งกระด้าง หอมกลิ่นผลไม้ต่างๆ กะทิ และน้ำตาลมีสีสรรของส่วนผสมสามารถมองเห็นเนื้อข้าวสีของผลไม้และส่วนผสม อื่นๆ ได้ดี มองดูน่ารับประทาน สิ่งสำคัญในการกวนข้าวทิพย์ ขณะกวนต้องกวนไปทางเดียวกันคือวนขวาไปตลอด จนกระทั่งเสร็จ เพื่อให้ขนมมีความเหนียวและกะทิไม่แยกตัวจากน้ำตาล 

    
     สัดส่วนที่ใช้ เครื่องปรุงแต่ละอย่างไม่กำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ปรุงแต่ส่วน ใหญ่จะหนักน้ำตาลหม้อกะทิและข้าว สำหรับขนมปังจืดผึ่งแห้งแล้วนำมาป่นเป็นเกร็ดสำหรับโรย คงเป็นอิทธิพลของขนมตามแบบฝรั่งที่แผ่เข้ามาในสมัยต้นๆ รัชกาล ในพระราชพิธีกวนข้าวทิพย์ ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่างเท่านั้น เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นขยายจุดขึ้นเรียกว่า “ไฟฟ้า” เป็นความหมายว่าไฟเกิดจากฟ้า ถือเอาตามคติที่พระอินทร์เป็นผู้ลงมาจุดไฟในเตาให้นางสุชาดานั้นเองผู้กวน 


     ข้าวทิพย์จะเป็นหน้าที่ของเด็กหญิงพรหมจรรย์ อายุไม่เกิน 12 ปีทั้งสิ้นจากประวัติความเป็นมาและกรรมวิธีในการหุงข้าวมธุปายาส ที่พรรณนามาทั้งหมดจึงสรุปมูลเหตะที่ชาวพุทธทั้งหลายกล่าวยำย่อง “มธุปายาส” ว่าเป็น “ข้าวทิพย์” ได้ 3 ประการคือ
1.เป็นของที่มีรสอันโอชะล้ำเลิศและกระทำได้ยากผู้ที่จะสามารถปรุงขึ้นได้ ต้องอาศัยบารมี คือมีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายคือบริวารผู้คน และกำลังสติปัญญาล่วงรู้ขั้นตอนในการปรุง เห็นได้ว่ามิใช่วิสัยของคนธรรมดาจะทำได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์

2.เป็นของที่ปรุงขึ้นถวายแด่ผู้มีบุญญาธิการ ผู้ควรสักการะบูชา ปรุงขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยต่อเทพยดา เป็นต้น รวมความก็คือทั้งผู้ปรุงและผู้รับต่างต้องมีบุญบารมีมากจึงจะกระทำได้
3.เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยแล้วสามารถตรัสรู้บรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณ ได้ฉะนั้น “ข้าวทิพย์” ก็คือสมญานามอันเกิดจากความรู้สึกที่ลึกซึ้งในจิตใจว่า เป็นของสูงของวิเศษล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้นั้นเอง 


ที่มา http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=608.0
    http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=137&page=10

เรื่องของข้าวมธุปายาสกับวันวิสาขบูชา


“ข้าวมธุปายาส” มีความสำคัญอย่างไรกับ “วันวิสาขะบูชา”

เช้าวัน ตรัสรู้ นางสุชาดากับทาสีมาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเทวดา
ภาพที่ ๒๒ สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร

   นับตั้งแต่พระมหาเสด็จออกบวชเป็นต้นมาจนถึงวันที่เห็นอยู่ในภาพนี้  เป็นเวลาย่างเข้าปีที่  ๖ ตอนนี้พระมหาบุรุษเริ่มเสวยอาหารจนพระวรกายมีกำลังเป็นปกติแล้ว  และวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน  ๖  ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน ๔๕  ปี  สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษคือนางสุชาดา  เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน   ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม   ของที่นางถวายคือข้าวมธุปายาส   คือ   ข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน  เป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ  ไม่ปนเนื้อ  ไม่เจือปลา  ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ
 
   ปฐมสมโพธิเล่าว่า  นางสุชาดาเคยบนเทพเจ้าไว้ที่ต้นไทรเพื่อให้ได้สามีผู้มีชาติสกุลเสมอกันและได้ลูกที่มีบุญ   เมื่อนางได้สมปรารถนาแล้ว   จึงหุงข้าวมธุปายาสเพื่อแก้บน  ก่อนถึงวันหุง  นางสุชาดา  สั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวนหนึ่งพันตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ  ให้แม่โคกินชะเอมเครือ  กินอิ่มแล้วไล่ต้อนออกมา     แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูงๆ  ละ  ๕๐๐  ตัว  แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน   แบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยๆ  ไปจนเหลือแม่โคนม  ๘  ตัว  เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง  ๘  มาหุงข้าวมธุปายาส

   หุงเสร็จแล้ว  นางสุชาดาสั่งให้นางทาสีหญิงรับใช้ไปทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณต้นไทร  นางทาสีไปแล้วกลับมารายงานให้นางสุชาดาทราบว่า  เวลานี้รุกขเทพเจ้าที่จะรับเครื่องสังเวยได้สำแดงกายให้ปรากฏ  นั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว  นางสุชาดาดีใจเป็นกำลัง  จึงยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนหัวเดินมาที่ต้นไทรพร้อมกับนางทาสี   ก็ได้เห็นจริงอย่างนางทาสีเล่า   นางจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย   พระมหาบุรุษทรงรับแล้วพระเนตรดูนาง    นางทราบพระอาการกิริยาว่า     พระมหาบุรุษไม่มีบาตรหรือภาชนะอย่างอื่นรับอาหาร  นางจึงกล่าวคำมอบถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดนั้น

   ถวายเสร็จแล้วก็ไหว้    แล้วเดินกลับบ้านด้วยความยินดี   และด้วยความสำคัญหมายว่า   พระมหาบุรุษนั้นเป็นรุกขเทพเจ้า


ที่มา  
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=608.0
        http://www.84000.org/tipitaka/picture/f22.html