หูของเขากับปากของเขามันอยู่ใกล้กัน หูของเรามันอยู่ไกลจากปากเขา เก็บเอามาเป็นขยะในใจเราทำไม <เก็บเอามาฝากจากพระวิทยากร>

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

รักษาศีลวันพระ

เข้าพรรษามาก็ใกล้จะถึงวันออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านดอนพุดผู้มีจิตอันเป็นกุศลก็ได้มารักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมกันในวันพระ เป็นปกติของชาวบ้านดอนพุด การใส่บาตรจะทำกันทุกวัน แทบทุกบ้าน หากวันใดพ่อแม่ไม่ว่างลูกๆ ก็จะมาใส่แทน หลังจากพระตีกลองตอนประมาณหกโมงเช้า หรือเห็นใบไม้ ก็จะได้เห็นชาวบ้านพากันมาใส่บาตรเป็นกิจวัตร ภาพแห่งความดีมองทีไรก็ปลื้มทุกที.....วันนี้เราทำทานกันหรือยัง!

อธิษฐานเทียน, หลอดไฟ พรรษา

โยมที่มารักษาศีลแปดในวันพระ

สวดมนต์ทำวัตร

ทานอาหารเพล 

มีทั้งคุณน้า คุณป้า คุณยาย

วิธีชีวิตชาวบ้าน เรียบง่าย ไม่ต้องแก่งแย่งกัน มีอะไรก็ปันกันไป มีครั้งหนึ่งเพื่อนรักบุญมาปฏิบัติธรรมที่สำนักฯ แล้วเกิดติดใจปลาตัวเล็กๆ ทอดที่แม่ครัวจัดอาหารให้ เป็นปลาที่ป้าบ้านใกล้วัดเอามาถวายเลี้ยงผู้ปฏิบัติ เลยฝากรักบุญซื้อจะเอากลับกรุงเทพฯ รักบุญก็ไปถามให้ปรากฏว่าป้าให้มาเกือบ กก.(เป็นปลาเค็มตากแห้งเลยเบา) แล้วป้าก็บอกว่ามันมีน้อยไม่คิดตังหรอกเอาไปกินเหอะ.....อึ้งเลย เพราะเราหาสิ่งเหล่านี้จากสังคมเมืองหลวงยากมาก น่าจะเป็นเพราะว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่ผูกพันกับวัด ฟังเทศน์กันบ่อยๆ ถึงแม้ว่าบางครั้งยังต้องดำรงชีพด้วยการจับปลาในหน้าน้ำ(ท่วม) คุณลุงคุณป้ายังบอกว่าวันนี้บาปจังจับปลามาทำปลาร้าปลาเค็มเยอะ พอตอนเย็นก็สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิแผ่เมตตาให้ปลาทั้งหลาย....ถ้าจับมา(วางข่าย)ตัวไหนยังไม่ตายก็เอาไปปล่อย....เป็นความน่ารักของคนดอนพุด ลองมาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านดู...แล้วจะติดใจ

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

อกุศลมูล ๓

รากเหง้าของอกุศล เรียกว่า อกุศลมูล เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย อกุศลมูลมี ๓ อย่างคือ
๑.โลภะ หมายถึง ความโลภอยากได้อันเป็นไปในทางทุจริต เป็นต้นเหตุของความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่น ลัก ขโมย โกง ปล้น เป็นต้น โลภะ เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก กำจัดได้ด้วยทาน คือ การบริจาค รู้จักการเสียสละและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น
๒.โทสะ หมายถึง จิตที่คิดประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้นเหตุของการก่อการวิวาททำร้าย บันดาลโทสะถึงที่สุดอาจถึงฆ่ากันได้ เมื่อทำตอบไม่ได้ก็จะกลั่นแกล้งกัน ทำให้อยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข อยู่ด้วยความระแวง โทสะ เกิดจากมานะ ความถือตัว กำจัดได้ด้วยเมตตา 
๓.โมหะ หมายถึง ความหลง ความเขลา ความรู้ไม่จริง เป็นต้นเหตุให้เกิดความประมาท เชื่อง่าย หูเบา เป็นเหตุให้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ โมหะเกิดจากมิจฉาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ผิด กำจัดได้ด้วยปัญญา 


สุจริต ๓

สุจริตเกิดขึ้นได้ ๓ ทางตามความประพฤติ คือ
๑.ประพฤติชอบทางกาย เรียก กายสุจริต
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
-เว้นจากลักทรัพย์
-เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๒.ประพฤติชอบทางวาจา เรียก วจีสุจริต 
-เว้นจากพูดเท็จ
-เว้นจากพูดส่อเสียด
-เว้นจากพูดคำหยาบ
-เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
๓.ประพฤติชอบทางใจ เรียก มโนสุจริต
-ไม่โลภอยากได้ของเขา
-ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
-ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม
การงดเว้น เรียกว่า วิรัติ มี ๓ อย่าง คือ
๑.สัมปัตติวิรัติ งดเว้นได้เฉพาะหน้า แม้สบโอกาสที่จะทำชั่วก็ยับยั้งชั่งใจไม่ให้ทำได้
๒.สมาทานวิรัติ งดเว้นได้ด้วยการสมาทาน ด้วยเจตนาที่ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำชั่ว
๓.สมุทจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด ไม่ทำชั่วตลอดชีวิต เป็นการงดเว้นได้ของพระอริยบุคคล
สุจริตทั้ง ๓ เป็นทางนำไปสู่ความเจริญ ผู้ทำความดีย่อมได้ประโยชน์ คือ
-ตัวเองตำหนิตัวเองไม่ได้
-ได้รับการสรรเสริญยกย่องจากผู้รู้
-ชื่อเสียงดีงามย่อมขจรไป
-เวลาใกล้สิ้นใจมีสติไม่หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในสุขคติ



ทุจริต ๓

ทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่ว การทำผิด การทำไม่ดี มีที่เกิด ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ
๑.ประพฤติชั่วทางกาย มี ๓ อย่าง คือ
-ฆ่าสัตว์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ตั้งแต่ถือกำเนิดในครรภ์รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด 
-ลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ จะมีราคาค่างวดมากน้อยก็ตาม ถ้าเจ้าของไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา หยิบเอาของนั้นมาถือเป็นการลัก
-ประพฤติผิดในกาม เป็นชู้ในชายหญิงที่มีภรรยาสามีแล้ว
๒.ประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ อย่าง คือ
-พูดเท็จ พูดให้คลาดจากความเป็นจริง รวมถึงการเขียนเป็นหนังสือด้วย
-พูดส่อเสียด พูดยุแหย่เพื่อให้คน ๒ ฝ่ายผิดใจกัน
-พูดคำหยาบ พูดคำที่ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจหรือบันดาลโทสะ
-พูดเพ้อเจ้อ พูดพล่อยๆ ไม่เป็นแก่นสาร
๓.ประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง คือ
-โลภอยากได้ของเขา คิดเอาแต่ได้ของคนอื่น โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร
-พยาบาทปองร้ายเขา คิดปองร้ายคนที่ตนไม่ชอบใจ
-เห็นผิดจากคลองธรรม เห็นว่าบาปบุญคุณโทษไม่มีผล การทำดีหรือชั่วจะได้รับผลต่อเมื่อมีผู้รู้เห็น
การประพฤติชั่วทั้ง ๓ ทางนั้น ประพฤติชั่วทางใจมีโทษรุนแรงที่สุดกว่าการทำบาปอื่นๆ เพราะเป็นเหตุให้คนที่มีความเห็นอย่างนั้นปฏิเสธเรื่องบาปบุญคุณโทษ สามารถทำชั่วได้ทุกอย่าง
ผู้ทำทุจริตย่อมได้รับโทษ คือ 
-ตนเองก็ตำหนิตนเองได้
-ถูกตำหนิจากผู้รู้
-ชื่อเสียงทางไม่ดีขจรไป
-ใกล้สิ้นใจก็หลงเพ้อ
-เสียชีวิตแล้วไปเกิดในทุกคติ


โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วรวมอยู่ในโอวาททั้ง ๓ ที่มีคติจำง่ายๆ ว่า ละชั่ว ทำดี จิตใส ซึ่งเรียกรวมว่า โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาททั้ง ๓ จัดลงในไตรสิกขา คือ
๑.สัพพปาปัสสะ อกรณัง หมายถึง การงดเว้นจากทุจริต จากบาปกรรมทุกอย่าง ทั้งทางกาย วาจา ใจ พยายามลดละที่จะทำซ้ำ และป้องกันมิให้เกิดมีขึ้นในจิตสันดาน
๒.กุสลัสสูสัมปทา หมายถึง การทำสุจริต
๓.สจิตตปริโยทปนัง หมายถึง การทำใจให้หมดจด ให้ปลอดจากกิเลสที่ทำให้เศร้าหมอง มี โลภ โกรธ หลงฯ



คุณของรัตนะ ๓

พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
๑.รู้ดีรู้ชอบ หมายถึง ทรงรู้ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง คือ 
-รู้ว่าชาติ ชรา มรณะฯ เป็นทุกข์จริง
-ตัณหา เป็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์จริง
-ความที่ตัณหาดับโดยไม่เหลือ เป็นนิโรธ ความดับทุกข์ได้จริง
-มรรค คือปัญญาเห็นชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง
เรียกว่า รู้อริยสัจ
๒.ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ตกไปอยู่ในสถานที่ต่ำช้าในภพทั้งสอง
-ในภพนี้ ไม่ถูกขังในเรือนจำ ไม่เกิดในถิ่นทุรกันดารฯ
-ในภพหน้า ไม่เกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก สัตว์ดิรัชฉาน เปรต อสูรกาย
๓.ปฏิบัติชอบ หมายถึง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่ง ให้สมกับเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เมื่อปฏิบัติได้ดังนั้นแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย


วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

รัตนะ ๓

รัตนะ แปลว่า แก้ว รัตนะ ๓ หมายถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นสิ่งที่ประเสริฐมีค่าสูงสุด และหาได้ยาก ทั้งสามนี้รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย หรือพระไตรรัตน์
๑.พระพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ทรงมีพระกรุณาคุณสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
๒.พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกรวมว่าพระธรรมวินัย แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม
๓.พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใสออกบวช ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็สอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์



ทุลลภบุคคล-บุคคลหาได้ยาก

บุคคลหาได้ยาก มี ๒ ข้อคือ
๑.บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน หมายถึง ผู้ที่มีบุญคุณ เคยเลี้ยงดู สั่งสอน ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ให้กำเนิดหรือหน้าที่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทำด้วยเมตตากรุณา บุพการีบุคคลที่สำคัญในชีวิตคือ พ่อแม่, ครูอุปัชฌาย์, พระเจ้าแผ่นดิน, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒.กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วตอบแทน หมายถึง ผู้ที่ระลึกถึงบุญคุณที่ผู้อื่นเคยช่วยเหลือตนมา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อมีโอกาสก็จะตอบแทนบุญคุณนั้นตามกำลังความสามารถ ผู้ที่เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคลคือ ลูกชายหญิง, ศิษย์, พสกนิกร, พุทธศาสนิกชน


โสภณธรรม-ธรรมอันทำให้งาม

ธรรมอันทำให้งาม เป็นเครื่องประดับภายในจิตใจ ทำให้เป็นคนมีสง่าราศี น่ายกย่องนับถือ มี ๒ ข้อคือ
๑.ขันติ ความอดทน หมายถึง ความอดทนอดกลั้นไว้ได้เมื่อมีอารมณ์ที่มากระทบใจ ไม่แสดงอาการออกมาทางการกระทำหรือคำพูด เรื่องที่ต้องอดทนมีอยู่ ๔ ประการคือ
-ทนต่อความลำบากตรากตรำ ไม่ย้อท้อ สิ้นหวัง ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น
-ทนต่อทุกขเวทนา ไม่แสดงอาการทุรนทุรายเมื่อเจ็บป่วย
-ทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกคนอื่นทำหรือพูดกระแทกแดกดัน
-ทนต่ออำนาจกิเลส ไม่แสดงอาการอยากมีอยากได้ แม้ได้มาก็ไม่ยินดีจนเกินเหตุ
๒.โสรัจจะ ความเสงี่ยม หมายถึง การรู้จักปรับสภาพจิตใจให้สงบนิ่งเยือกเย็นเมื่อมีเรื่องที่ต้องอดทน ข่มใจให้สงบนิ่ง ไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาภายนอก  


หยิบเอามาฝาก....


ธรรมะสบายๆ กับ ท่าน ว.วชิรเมธี

กฐินวัดดอนพุด

เวลาแห่งการสร้างมหาทานบารมีที่เรารอคอยกันมาถึงแล้วค่ะ 
กฐินวัดดอนพุดจะทอดกันวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ นี้ ขอเชิญเทพบุตรเทพธิดาผู้มีบุญทั้งหลายได้มาร่วมสร้างมหาทานบารมีกันนะคะ "กฐิน" ถือเป็นทานตามกาล คือ ปีหนึ่งแต่ละวัดจะทอดได้ครั้งเดียวเท่านั้น และจะทอดภายในหนึ่งเดือนหลังวันออกพรรษา  บุญใหญ่อย่างนี้จะพลาดได้อย่างไร....ถึงแม้ว่าตอนนี้น้ำทำท่าว่าจะมา แต่น้ำใจของสาธุชนที่ตั้งมั่นในการสืบทอดพระศาสนาของพระศาสดามีมากกว่าหลายร้อยเท่า สำนักวิปัสสนาวัดดอนพุดจะดำรงคงอยู่ได้ก็ด้วยความสามัคคีของสาธุชน ที่ได้ช่วยกันทำนุบำรุงศาสนสถานให้สามารถใช้งานได้ดี ตราบใดที่อาคารสถานที่ยังคงอยู่ มีคนมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมซึ่งที่สำนักวิปัสสนาวัดดอนพุดได้มีการอบรมให้กับเยาวชน ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปอยู่ทั้งปี ตราบนั้นบุญที่เราร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ เราท่านทั้งหลายก็จะได้รับบุญนั้นตลอดสิ้นอายุขัย แม้นว่าได้เกิดมาอีกชาติถ้าศาสนสถานยังคงอยู่เราก็ยังได้บุญนั้นอยู่ เปรียบดั่งบุญน้ำไหล....อย่างนี้เราจะไม่ทำได้อย่างไร......ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.๐๓๖-๓๙๕ ๐๒๔ พบกันวันที่ ๒๒ ตุลาคม นี้นะคะ


โลกปาลธรรม-ธรรมคุ้มครองโลก

ธรรมคุ้มครองโลก เพราะเป็นธรรมที่ทำให้โลกเกิดสันติสุข มี ๒ ข้อคือ
๑.หิริ ความละอายใจ หมายถึง ความละอายใจในการทำผิดศีลธรรมหรือกฏหมายบ้านเมือง หรือความละอายในในการที่จะไม่ทำความดีที่ตนสามารถทำได้
๒.โอตตัปปะ ความเกรงกลัว หมายถึง ความกลัวต่อความผิด เพราะคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นหลังความผิดนั้นๆ 



พหุปการธรรม-ธรรมมีอุปการะมาก

ธรรมะมีอุปการะมาก ทำให้บุคคลสามารถควบคุมการทำ การพูด การคิด ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ช่วยใ้ห้มีการยับยั้งชั่งใจ รู้จักละวางการทำ พูด คิด ที่ไม่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง มี ๒ ข้อคือ
๑.สติ ความระลึกได้ หมายถึง การนึกได้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด มิให้กิจนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางที่ผิด หรือนึกถึงเรื่องที่เคยทำ เคยพูดที่นานมาแล้วได้ เป็นอาการฉุกคิดได้ของจิตไม่เผลอไผลหลงลืม 
สติ มีหน้าที่คอยกำจัดความประมาทเลินเล่อ ทำให้กิจการงานต่างๆ ไม่เกิดความเสียหาย
๒.สัมปชัญญะ ความรู้ตัว หมายถึงความรู้สึกตัวตลอดเวลาในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด  รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
สัมปชัญญะ มีหน้าที่กำจัดความโง่เขลาในการทำงานทุกประเภท