หูของเขากับปากของเขามันอยู่ใกล้กัน หูของเรามันอยู่ไกลจากปากเขา เก็บเอามาเป็นขยะในใจเราทำไม <เก็บเอามาฝากจากพระวิทยากร>

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๑๔ วาจาดีมีประโยชน์

  อย่ากล่าวคำหยาบกับใครๆ ถ้าเราด่าเขา เขาจะด่าตอบเรา
การพูดจาก้าวร้าวกัน เป็นเหตุก่อทุกข์
อาจลุกลามถึงขั้นลงมือประทุษร้ายกัน
ทางที่ดีที่สุด เมื่อมีเหตุให้มีการทะเลาะ
จงเงียบเสียงให้เหมือนฆ้องปากแตก 
จะได้ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องฝึกให้มีวาจาดี
วาจาที่ดี จะต้องเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล
วาจาที่กล่าวเป็นความจริงและมีประโยชน์
วาจาที่กล่าวอ่อนหวานและกล่าวด้วยเมตตาจิต
ท่านจะพบแต่คนที่เป็นมิตรไม่มีใครคิดร้าย
เพราะท่านไม่พูดเสียหายแก่ใคร
วาจาดีเป็นวาจาสุภาษิต
นำพาชีวิตให้มีความสงบสุข
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๑๓ ทางที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ


ทางแห่งกุศลกรรม เป็นทางไปสู่ความสุขความเจริญ
๑.ละเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน มีเมตตากรุณา
๒.ไม่ลักขโมยของผู้อื่น เคารพในทรัพย์สินของผู้อื่น
๓.ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม มีกามสังวร
๔.ละเว้นจากการพูดเท็จ กล่าวแต่คำจริง
๕.ละเว้นจากการพูดส่อเสียด กล่าวแต่คำที่สร้างสามัคคี
๖.ละเว้นจากการพูดคำหยาบ พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน
๘.ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น มีจิตคิดจะให้
๙.ไม่คิดร้ายผู้อื่น คิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
๑๐.มีความเห็นชอบ คือ เห็นว่าทานมีผล การบูชามีผล ผลของกรรมดีกรรมชั่วมีจริง
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องบำเพ็ญกุศลกรรมบท ๑๐
ชีวิตจะได้มีความสุขความเจริญ
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๑๒ ทางแห่งการทำความดี


ที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือทางแห่งความดีมี ๑๐ อย่าง
๑.ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
๒.ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
๓.ทำบุญด้วยการฝึกจิตให้สงบและเกิดปัญญา
๔.ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕.ทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้ผู้อื่น
๖.ทำบุญด้วยการแบ่งส่วนแห่งความดีในตนให้ผู้อื่น
๗.ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
๘.ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
๙.ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้แก่ผู้อื่น
๑๐.ทำบุญด้วยการทำความคิดเห็นให้ถูกต้อง เห็นว่า ทานมีผล การบูชามีผล ผลของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องเจริญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
เพื่อฝึกฝนให้เป็นคนดี เป็นที่พึ่งแก่ตน
ทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๑๑ เมตตาค่ายิ่งใหญ่




สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มีเมตตา
ให้แสดงความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
ต้องการให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขโดยทั่วหน้า 
ไม่มีอะไรจะให้ความเย็นแก่จิตใจเท่าเมตตา
เมตตามีผลทำให้ได้รับความสงบสุข
เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กันและกัน
เพื่อไม่ให้ทะเลาะบาดหมาง มีความพร้อมเพรียง
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องเจริญเมตตาให้มาก
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ทำให้คนมีความรักใคร่ปรองดอง
ท่านจะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้
เพราะท่านมีคนช่วยแก้ไขปัญหาด้วยไมตรีจิต
ในฐานะญาติมิตรที่มีเมตตาต่อกัน
วันนี้ท่านมีเมตตาหรือยัง
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๑๐ อย่าจับผิดผู้อื่น


ร่างกายนี้แตกสลายง่ายและว่างเปล่า
เช่นเดียวกับฟองน้ำและพยับแดด
ไม่มีแก่นสารที่จะยึดว่าเป็นตัวเราของเรา
ฉะนั้น ไม่ควรเที่ยวจับผิดผู้อื่น
ไปจับผิดในธุระที่เขาทำแล้ว หรือยังไม่ทำ
ควรตรวจดูในความบกพร่องของตน
ในธุระที่ตนได้กระทำไปแล้ว
และในธุระที่ตนยังไม่ได้กระทำ
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ พึงสังวรให้ดี
ถ้าอยากมีความสุข ต้องหยุดดูผู้อื่น
ไม่ลืมที่จะหยุดดูตัวเอง
คอยสังเกตดูสิ่งที่ตนคิด ตนพูด ตนทำ
อย่าให้เป็นไปกับบาปอกุศล
ต้องครองตนให้อยู่ในบุญกุศลเท่านั้น
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๙ ก้าวสู่ความสำเร็จของชีวิต


ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการมีสติ 
คือ ไม่เผลอ สามารถคุมใจไว้กับกิจ คุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง
ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง สะอาด เรียบร้อย
มีความรอบคอบ คอยระมัดระวัง
เอาชนะใจตนเองได้ ไม่ปล่อยจิตไปตามอำนาจกิเลส
เป็นผู้ที่สามารถเผากิเลสเครื่องผูกมัดได้แล้ว
เหมือนไฟเผาเชื้อทุกชนิดหมดสิ้นฉะนั้น
เขาย่อมบรรลุถึงความสำเร็จ
เข้าถึงความสุขอันไพบูลย์
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้
จะมีความก้าวหน้าในชีวิตและในการงาน
ข้อสำคัญต้องจดจำพระธรรมอันวิเศษนี้ไว้ให้ดี
เพราะเป็นกุญแจดอกสำคัญ
ที่นำท่านไขไปสู่ความสำเร็จของชีวิต
เข้าถึงความสุขอันไพบูลย์
สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม 

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๘ แนบชีวิตอยู่กับสิ่งที่ประเสริฐ


บุคคลผู้อ่อนน้อมกราบไหว้ผู้ใหญ่เสมอ
บุคคลผู้มีศีล มีความสำรวมระวังไม่เบียดเบียนผู้อื่น
บุคคลผู้มีสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นอยู่กับงานที่กำลังทำ
บุคคลผู้มีปัญญา สามารถพิจารณาเห็นความจริงของชีวิต ที่เกิดมาแล้วตั้งอยู่ไม่นานก็ต้องเสื่อมสิ้น แตกสลายไปในที่สุด รีบขวนขวายทำบุญกุศล เป็นบุคคลที่ประเสริฐ น่าสรรเสริญแม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐสุด
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ พึงรู้วิธีปฏิบัติตนดังนี้ 
เป็นผู้สูงศักดิ์ เพราะท่านเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
เป็นผู้มีความสง่างามมีชื่อเสียง เพราะท่านมีศีล
เป็นผู้มีความสุข เพราะจิตตั้งมั่นมีสมาธิั
เป็นผู้มีปัญญา เพราะมีการฟัง พิจารณาและปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านจะเข้าถึงชีวิตที่ประเสริฐสุด
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๗ เคล็ดลับทำจิตใจให้เป็นบุญ


คนที่ไม่มีความโลภอยากได้
คนที่ไม่มีความโกรธแค้นอาฆาต
คนที่มีสติ รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความหลง
เป็นผู้ที่ไม่มีบาป มีแต่บุญกุศล
เขาจะตื่นอบ่างเป็นสุข เขาจะหลับอย่างเป็นสุข
เขาจะเป็นสุขในทุกแห่งหนทุกกาลเวลา
เพราะเขาไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง
ผู้อธิฐานธรรมข้อนี้ จะต้องปฏิบัติตนดังนี้
ละความโลภด้วยการเสียสละ ให้ทานเสมอ
ละความโกรธ ด้วยการมีเมตตาต่อทุกชีวิต
ให้นึกว่าเขาเกิดมาแล้ว กำลังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้
ไม่ช้าก็ต้องตาย อย่าไปเกลียดโกรธเขาเลย
ละความหลง ด้วยการมีสติอย่าเผลอ
ใส่ใจในอาการเคลื่อนไหวของกายในทุกอิริยาบท
ในทุกๆ การงาน ให้มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม


อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๖ ตกแต่งใจให้บริสุทธิ์


คนเรานั้นมีใจเป็นใหญ่
ถ้าใจบริสุทธิ์จะพูดจะทำก็บริสุทธิ์
การทำใจให้บริสุทธิ์นั้น จะต้องทำกุศล ๓ อย่าง คือ
๑.ทานกุศล คือ การให้สิ่งของ ให้ธรรม ให้อภัย
๒.ศีลกุศล คือ การสำรวมความประพฤติทางกาย วาจา
๓.ภาวนากุศล คือ การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ หรือการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา สามารถดับทุึกข์ ดับกิเลส จนจิตได้เข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องหมั่นสั่งสมบุญบารมี
รู้วิธีทำจิตให้สงบ ด้วยการเตือนตนทุกวันว่า 
"วันนี้ต้องให้ทาน ต้องงดเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยคำพูดและการกระทำที่ไม่ดี ต้องมีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับการงานที่กำลังทำอยู่ตลอดเวลา และต้องฝึกฝนอบรมจิตให้เกิดปัญญา"
เพื่อนำพานาวาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๕ พร ๕ ประการ

พร ๕ ประการ คือ
๑.อายุ       คือ ความมีอายุยืนยาว
๒.วรรณะ   คือ ความอิ่มเอิบผ่องใส
๓.สุขะ       คือ ความสุข
๔.โภคะ     คือ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินซึ่งอำนวยความสะดวกสบาย
๕.พละ       คือ มีกำลังเข้มแข็ง สามารถขจัดกิเลสหรือความทุกข์ใดๆ ได้หมดสิ้น
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ เป็นคนมีบุญบารมี
เพราะรู้วิธีปฏิบัติตน เพื่อให้ได้พร ๕ อย่างดังกล่าวนี้
การเจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้มีอายุยืนยาว
การรักษาศีล ทำให้มีความงาม อิ่มเอิบ
การทำสมาธิจนได้ฌาน ทำให้มีความสุข
การมีพรหมวิหาร ๔ ทำให้ได้โภคะ
การเจริญวิปัสสนา ทำให้ได้ปัญญาพละ
สามารถขจัดกิเลสความทุกข์ได้หมดสิ้น
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๔ คบคนดีมีประโยชน์


จะเป็นคนดีมีประโยชน์ ต้องคบคนดี
และยอมตนให้บัณฑิตตักเตือนพร่ำสอน
และกีดกันให้ออกจากความชั่ว
บัณฑิตจะกล่าวคำสั่งสอนอบรมว่า
ไม่พึงคบคนชั่ว คบคนที่ดีเยี่ยม
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ให้เลือกคบคนดี
บุคคลที่ดีที่สุด เยี่ยมที่สุด เลิศที่สุด คือ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำสอนของพระองค์ทั้งประเสริฐและมีประโยชน์ที่สุด
ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ได้นั้น
เป็นคนดีมีประโยชน์ เป็นคนประเสริฐ
ทำประโยชน์ได้เลิศทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม ข้อที่ ๓ ความโกรธโทษร้ายแรง

โทสะ ความโกรธที่ประทุษร้ายใจ
ทำให้เดือดร้อนกระวนกระวายใจ
เมื่อแรงขึ้นก็พยายามมุ่งร้ายต่อผู้อื่น
โดยไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ไม่มีเหตุผล
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสติ
พิจารณาถึงอันตรายของความเร่าร้อนที่เกิดจากโทสะ
คนอื่นสักหมื่นคนที่คอยจ้องทำร้ายเราอยู่
ก็ไม่สู้อันตรายของความโกรธที่กำลังทำร้ายเรา
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ ต้องพยายามละความโกรธ
ด้วยการเพ่งดูอาการเร่าร้อนที่กำลังเกิดในใจ
จะช่วยละความโกรธได้ พอใจร้อนก็เพ่งดูที่ใจอีก
ดูจนกระทั่งความโกรธความเร่าร้อนในใจหายไป 
ขอให้ตั้งใจให้มั่นคงเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธองค์
ปฏิบัติตนไปสู่ความพ้นทุกข์ ด้วยความไม่โกรธ
ชีวิตจะไม่มีโทษ หมดความทุกข์ความกังวลทั้งปวง
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เห็นแพนด้า เห็นธรรม


อายตนะ ทั้ง 6 ของคนเรา ประกอบไปด้วย 
หู ตา ลิ้น จมูก กาย และใจ
ผัสสะ..หมายถึงการกระทบ
.............................
ทวรทั้ง 6 นี้ มีทั้งคุณและโทษ
"กิเลส" มาจากตัวการทั้งหกนี้แหละ
.............................
สีดำๆบนตัวเจ้าแพนด้า บ่งบอกกับเรา
ให้เรา "รู้" และมี "สติ" ในทวารทั้ง 6
..ยับยั้ง "กิเลส" ยับยั้ง "ทุกข์"
.............................
แม้ยังไม่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
สามารถช่วยให้เราเลือกภพภูมิอยู่ได้
.............................


เห็นแพนด้าเห็นธรรม...ณัฐรัฐฐา


สะกิดตา สะกิดใจ จากเพื่อนที่น่ารักของเรา
เพื่อนส่งรูปมาวันพระพอดี แต่นำมาลงหลังวันพระ ๑ วัน
ถ้าเป็นหนังกำลังภายในคงต้องบอกว่า...
ความผิดครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ข้าผู้น้อยสมควรตาย 
(แต่รอไปครั้งหน้าแล้วกันนะ...อันนี้เติมเอง)
  ระหว่างทางที่ท่องเที่ยวไป 
มีธรรมะให้เราพิจารณาทุกๆ ก้าวที่เราเหยียบย่าง

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวันข้อที่ ๒ ต้องละความโลภจึงได้ลาภ


ความโลภคือความอยากได้
แต่อย่าให้ความอยากได้รุนแรงจนกระทั่ง
มุ่งแต่จะเอาอย่างเดียว โดยไม่เลือกว่า ดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด
ความโลภมากไม่ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
ความเจริญรุ่งเรืองหรือความมั่งมีนั้น
จะต้องมีความเพียรในการแสวงหาอย่างถูกต้อง
ไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ผู้ใดทั้งสิ้น

ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้
ต้องพยายามละความโลภให้เต็มที่
เพียรแสวงหาทรัพย์ในทางที่ดี
และทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ท่านจะไม่ตกต่ำ ส่งเสริมให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ด้วยลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข
ฉันทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม 



วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อธิษฐานธรรม คติธรรมประจำวัน ข้อที่ ๑ พึงระลึกถึงพระพุทธคุณ


พระพุทธคุณ ๓ ประการของพระพุทธเจ้า
     ๑.พระปัญญาัธิคุณ ทรงมีพระปัญญาที่รู้ทั่วถึงสิ่งทั้งปวงอย่างไม่มีอะไรปกปิดได้ ทรงรู้อนุสัยกิเลสของแต่ละบุคคล ทรงรู้อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ที่เคยอบรมมา ทรงรู้อินทรีย์แก่อ่อนยิ่งหย่อนของเวไนยสัตว์
     ๒.พระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีพระกรุณาที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำกัดบุคคล ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่
     ๓.พระบริสุทธิคุณ ทรงตั้งพระทัยที่จะอบรมสั่งสอนสรรพสัตว์ให้มีจิตผ่องใส หลุดพ้นจากกิเลสด้วยพระทัยอันบริสุทธิ์ ไม่ทรงหวังสิ่งตอบแทนใดๆ
ผู้อธิษฐานธรรมข้อนี้ จงหมั่นสร้างปัญญาให้มีในตน
ใ้ห้เป็นคนมีความกรุณา มีจิตใจบริสุทธิ์ต่อกัน

เรียบเรียงโดย: ฉนทนา อุตสาหลักษณ์
กองทุนพิทักษ์ธรรม

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเดินทางมาวัดดอนพุด



     การเดินทางมาวัดดอนพุด ง่ายมากค่ะ
-หากมารถโดยสารจากกรุงเทพใช้บริการรถตู้อ่างทอง รถจอดที่อนุสาวรีย์ชัยฯฝั่งโรบินสันเก่า ค่าโดยสาร 80 บาท มาลงที่อ่างทองแล้วก็รอรถโดยสารตรงนั้นเลย จะมีรถโดยสารที่ไปสระบุรี หรือพระพุทธบาทมาจอดที่นั่น ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท บอกเค้าว่าลงที่ศาลาหนองมน จะมีวินมอเตอร์ไซด์อยู่ฝั่งตรงข้ามเรียกให้ส่งที่วัดดอนพุด ค่าโดยสาร 20 บาท ไว้ใจได้ทุกคันค่ะเพราะเป็นคนพื้นที่รู้จักกันหมด 
-หรือจะนั่งรถทัวร์สุพรรณมาลงที่อ่างทองก็ได้ อ้อ...เกือบลืมบอกไป รถโดยสารเที่ยวสุดท้ายจากอ่างทองไปสระบุรี หมดหกโมงเย็น แต่ควรจะมาก่อนเพราะเดี๋ยวจะไม่มีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างค่ะ  ถ้ามาจากสายอีสาน ให้ลงรถที่สระบุรี แล้วนั่งรถโดยสารที่ไปสุพรรณ ลงที่ศาลาหนองมนเหมือนเดิม แล้วก็เรียกรถมอเตอร์ไซด์ส่งที่วัดดอนพุด
-หากมารถส่วนตัวจากกรุงเทพฯ ให้มาทางสายเอเชีย ตรงมาทางอ่างทองพอมาถึงแยกอ่างทอง จะมีป้ายบอกทางไปอำเภอท่าเรือ ให้ไปตามเส้นทางนั้นตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยกเจ้าปลุก ก็ใกล้ถึงแล้วค่ะ จากแยกเจ้าปลุกสังเกตุจะมีปั๊มเอสโซ่อยู่ซ้ายมือ ตรงไปอีกหน่อยป้ายวัดจะอยู่ทางขวามือ ซุ้มทางเข้าวัดจะอยู่ตรงกับป้ายพอดี ก็เลี้ยวเข้าไปเลยค่ะ ประมาณ 1 กิโล ก็ถึงวัดแล้วค่ะ สำนักวิปัสสนาฯจะอยู่ด้านหลังวัด ขับรถเข้าไปด้านในสุดผ่านพระอุโบสถเข้าไปเลย จะมีที่จอดรถค่ะ 
     ไม่ยากเลยค่ะ หรือจะสอบถามที่ โทร.036-395024 วัดดอนพุด   มาปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน จะสะดวกมาวันไหนก็ได้รับทุกวันค่ะ ดูรายละเอียดที่ "ระเบียบการปฏิบัติวิปัสสนาวัดดอนพุด" แล้วเจอกันที่วัดดอนพุดนะคะ 


วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิปัสสนากัมมัฏฐาน งานพัฒนาจิต

 ทำไมคนเราจึงต้องพัฒนาจิต
ชีวิตคนเราประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ
     -กาย หรือร่างกาย หรือเรียกว่า รูปธรรม
     -ใจ หรือจิต หรือเรียกว่า นามธรรม

     การที่คนเราจะดำรงชีวิตโดยสมบูรณ์ตามธรรมชาติได้ จะต้องรักษาทั้งกายและใจให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เราจะดูแลรักษากายโดยไม่คำนึงถึงใจ หรือรักษาแต่ใจโดยทอดทิ้งกายนั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะกายและใจมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดสนิทแน่น

     คนป่วยทางกาย เมื่อนานวันเข้าจิตใจก็อ่อนแอไปตามร่างกาย ในทางตรงกันข้าม คนที่เดิมร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ถ้าเริ่มป่วยทางใจก็จะเกิดผลกระทบกาย เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ ผลสุดท้ายกายก็จะป่วยตามไปด้วย

     กายเป็นธรรมชาติซึ่งไม่รู้อะไรเลย ชอบสงบนิ่ง ไม่ชอบเคลื่อนไหว ต้องการพักผ่อนนอนหลับ ในขณะที่ใจหรือจิต เป็นธรรมชาติซึ่งมีสสภาพรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา ชอบเคลื่อนที่ ชอบท่องเที่ยวไม่หยุดนิ่ง ชอบคิดชอบฝัน
   
     คนเราจะปล่อยกายให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ กล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน ดังนั้น คนเราจึงต้องบริหารกาย คือ การออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังใช้ทำงาานได้ และเป็นภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ

     สำหรับใจหรือจิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราปล่อยให้ใจคิดและท่องเที่ยวไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา ก็จะเป็นจิตที่ไม่สงบ ฟุ้งซ่าน หมกมุ่นอยู่แต่ในอดีตและอนาคต ไม่อยู่กับความเป็นจริงหรือปัจจุบัน ในที่สุดจิตก็จะมีสภาพอ่อนเปลี้ยขาดพลัง และสร้างปัญหา ก่อทุกข์ให้เกิดแก่บุคคลนั้นตลอดไป จึงจำเป็นต้องบริหารจิตหรือพัฒนาจิต กล่าวคือ ทำจิตให้สงบนิ่งด้วยการฝึกสติและสมาธิ


วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข่าวงานบุญด่วนๆ


     มีข่าวบุญด่วนๆมาบอกกันค่ะ มีโยมใจดีจะซ่อมเพดานห้องกัมมัฏฐานที่วัดค่ะ ตอนนี้มีงบประมาณสามหมื่นบาท ยังขาดอีกหมื่นกว่าๆนิดหน่อย เชิญผู้ใจบุญทุกท่านร่วมบุญบริจาคสมทบทุนด้วยกันนะคะ ติดต่อได้ที่ แม่ชีหน่อง วัดดอนพุด โทร.087-081-0956 หรือ คุณกมลวรรณ โทร.081-807-4031, คุณแหม่ม โทร.089-412-3720 ช่างจะเริ่มงานซ่อมวันที่ 7 กพ.54 นี้ แล้วเสร็จในหนึ่งอาทิตย์ เหตุที่ต้องเร่งด่วนก็คือมีส่วนของหลังคาที่รั่วงบที่มีอยู่ก็เลยไม่พอ และในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ จะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาเข้าอบรมที่สำนักฯ อ่านเจอแล้วก็บอกต่อๆกันไปนะคะ คนละเล็กละน้อยร่วมกันตามกำลังศรัทธา บุญที่เกิดจากการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมมีมากมายเหลือประมาณ ตราบใดที่สถานที่นั้นยังคงอยู่เราก็ได้รับบุญทุกครั้งที่มีผู้มาปฏิบัติธรรม เรามาสร้างสมบัติจักรพรรดิข้ามภพข้ามชาติกันดีกว่า อนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม บอกต่อ และบริจาคทานนะคะ สาธุ สาธุ สาธุ

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วาเลนไทม์-วันกตัญญู-วันมาฆบูชา


          เดือนกุมภาพันธ์ ว่ากันว่าเป็นเดือนแห่งความรัก เรามาเริ่มต้นจากรักตัวเองกันดีกว่านะคะ นอกจากจะมีวันวาเลนไทม์ตามของฝรั่งแล้ว          ชาวพุทธอย่างเราจะลืมไม่ได้เลยว่าในเดือนนี้ของปีนี้ยังมีวันมาฆบูชาอีกด้วย เรามามอบความรักให้กับตัวเองกันดีกว่า ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์นี้เป็นวันมาฆบูชา หลายๆคนอาจจะไม่ทราบว่าวันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร อยากรู้ขึ้นมาแล้วสิ มาติดตามกันต่อเลยดีกว่า
          วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่าม กลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรง อภิญญา ๖, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ บางคนคงจะสงสัยว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปนั้นมีอะไรบ้าง มาดูต่อกันดีกว่านะคะ
            พระพุทธองค์เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาต อันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย          พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
              พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุด ของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
              พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง   ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
              ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด
                แล้วเราจะมอบความรักให้กับตัวเองยังไงดีล่ะ มีคำถามเกิดขึ้นในใจแล้วละสิ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างนี้ และรัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้ในวันนี้เป็นวันกตัญญูอีกด้วย โดยได้ประกาศในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ไหนๆก็หยุดกันแล้วพาคุณพ่อคุณแม่มาปฏิบัติธรรมตามระลึกถึงพระรัตนตรัยกันดีกว่า อย่างนี้ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักเป็น และการที่นำพาบุพการีมาปฏิบัติธรรมก็เป็นการทดแทนพระคุณที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำอย่างอื่น อย่าลืมมอบความรักให้ตัวเองและคนรอบข้างนะคะ